(22 มกราคม 2563) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ประธานคณะทำงานติดตามแผนงานและงบประมาณ รมช.ศธ., นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบาย รมช.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี (วษท.สุพรรณบุรี) โดยมีนายชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง, นายถาวร ทิพวรรณ ผู้อำนวยการ วษท.สุพรรณบุรี, ข้าราชการ บุคลากร นักศึกษา เข้าร่วม ณ หอประชุม วษท.สุพรรณบุรี โดยนายสิทธิศักดิ์ รัตนพาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง กล่าวให้การต้อนรับ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้นำแนวทาง Science Technology and Innovation : STI (อ่าน สติ) มาใช้เพิ่ม ปรับเปลี่ยน หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ในการพัฒนาการเกษตรกรรมยุคใหม่ ขอชื่นชม วษท.สุพรรณบุรี ที่ได้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์มาก่อนหน้านานนี้แล้ว
แต่สิ่งสำคัญที่สุด ณ ตอนนี้คือ โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเพิ่มทักษะ (Upskill) เปลี่ยนทักษะ (Reskill) หรือเรียนทักษะใหม่ (Newskill) ภายใต้แนวคิดหลัก STI : Science Technology Innovation โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมให้กับนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อนักศึกษาเรียนโดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีแล้วจะสามารถถ่ายทอดส่งต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ และเป็นวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อที่จะสร้างให้เกษตรกรใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการทำมาหาเลี้ยงชีพให้มีงานทำ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก แต่เกษตรกรจำนวนมากยังยากจน เราจึงต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ มีทุกอย่างในยุคดิจิทัล
วษท.สุพรรณบุรี จึงต้องเร่งสร้างนักศึกษา ครู บุคลากร ให้เป็น “ชลกร” หรือบุคคลที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ภายใต้แนวทาง 3 ข้อ คือ หาที่อยู่ให้น้ำ หาที่ให้น้ำไหล และเก็บน้ำไว้ใต้ดินโดยธรรมชาติ การปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝน พื้นที่ชลประทานครอบคลุมพื้นที่เกษตรเพียง 20% ซึ่งเป็นปัญหาของทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นพื้นที่นอกเขตชลประทานอีก 80% ไม่มีใครดูแล ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาวิจัย พัฒนา เพื่อหาความรู้ให้ชุมชน เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองให้มีน้ำใช้ตลอดปีได้
จึงเชิญชวนให้ วษท.ทุกแห่ง ปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะเพิ่มมูลค่าให้ วษท. และยังเป็นต้นแบบให้ชาวบ้าน อีกทั้งการปลูกต้นไม้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เนื่องจากกฎหมายได้ยกเว้นไม้มีค่า 58 ชนิด เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทำให้การปลูกต้นไม้ต่อจากนี้ไปจะต้องให้ความมั่นคงกับชีวิต เนื่องจากเราออมกับต้นไม้มีค่า เช่น ไม้พยูง สัก ยาง กฤษณา ปลูกแล้วมีแต่จะเติบโตเป็นการออมทุกวัน และเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดโลกร้อน สร้างความร่มรื่น ทำให้มีอากาศที่ดี และปลอดสารพิษอีกด้วย
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาทุกคนต้องรักประเทศไทย ภูมิใจในความเป็นคนไทย รักวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทย มีศีลธรรม และกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ โดย ศธ.กำลังดำเนินการทำโครงการ อ่านเขียน เรียนประวัติศาสตร์ ผ่านสื่อร่วมสมัย ใช้แหล่ หมอลำ แร็ป และ Animation เป็นสื่อในการเรียนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีไทย เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา รักทุกอย่างที่เป็นไทย และเพื่อให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุขในศตวรรษที่ 21”

โอกาสนี้ รมช.ศธ.ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ 3 แห่ง ได้แก่
- ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์น้ำมีชีวิต โดยมี ดร.นุกูล แสงพันธุ์ (ซึ่งเป็นผู้จดลิขสิทธิ์พบกุ้งสายพันธ์ใหม่ของโลก ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Pink Suphan) เป็นผู้บรรยาย
- ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามมาตรฐานคุณภาพ เช่น ปลาคราฟ ปลาออสการ์ ปลาหางนกยูง เป็นต้น โดยมี ครูพิสมัย เฉลยศักดิ์ เป็นผู้บรรยาย
- ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ / พื้นที่ 30% ขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน บ่อขนาดใหญ่นี้จะทำหน้าที่เหมือนโอ่ง ที่สามารถกักเก็บน้ำไว้เมื่อภัยแล้งมาเยือน / พื้นที่ 30% ใช้ทำนาปลูกข้าวบริโภค / พื้นที่ 30% ปลูกพืชไร่สวนผสมปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค หากเหลือส่งขายเป็นรายได้เสริม / พื้นที่ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย




















อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น