(20 ม.ค. 2563) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัด ศธ., นายพีระพล พูลทวี เลขาธิการ กอศ.. น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา, รศ.ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ., นายนรา เหล่าวิชยา รองเลขาธิการ กศน. และผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 อ.ระแงะ และศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ วันที่ 21 ม.ค. 2563 ณ จ.นราธิวาส กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา)

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
นายสุรัตน์ บุญฤทธิ์ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวน 5 โรงเรียน ใน 5 จังหวัดพร้อมกัน คือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 จังหวัดปัตตานี, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 43 จังหวัดสงขลา โดยอยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจำนวน 4 โรงเรียน (ยกเว้นจังหวัดสตูล) เพื่อรองรับและจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส และเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีนักเรียนที่ได้รับบริการทางการศึกษาใน 4 โรงเรียน ในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบอยู่ประจำ จำนวน 2,469 คน
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา มีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามหลักสูตร มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาหลักสูตรทักษะการดำรงชีวิต หลักสูตรอิสลามศึกษา และหลักสูตรทักษะอาชีพ ที่เพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาชั้นพื้นฐาน
นายนูซี มะเต็ง ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2547 เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้เด็กในพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องสูญเสียบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยรัฐบาลเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ มีทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่ถูกต้องในการดำรงชีวิต
ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนอยู่ประจำทั้งหมด 602 คน และคณะครู บุคลากรทั้งหมด 101 คน โดยโรงเรียนได้ดำเนินการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานควบคู่หลักสูตรที่สนองนโยบายและจุดเน้นของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น หลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงาน หลักสูตรอิสลามศึกษา หลักสูตรการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และทักษะการดำรงชีวิต เป็นต้น
ในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน คือ โรงเรียนมีสภาพพื้นที่ล้อมรอบด้วยสระน้ำ จึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมไหลหลากทุกปี มีความเสี่ยงกับนักเรียนที่ไม่มีทักษะด้านการว่ายน้ำ ทำให้การสัญจรเข้า – ออก ลำบากในช่วงน้ำท่วม อีกทั้งโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ที่ต้องดูแลความปลอดภัยทั้งวันจึงต้องใช้กระแสไฟฟ้าและความสว่างตลอดเวลา โรงเรียนจึงมีค่าใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่าเป็นบุญของแผ่นดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปณิธานให้ความสำคัญด้านการศึกษา ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส ซึ่ง ศธ.สามารถจัดการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงรักษา สืบสาน และต่อยอดด้านการศึกษาของคนทุกระดับ ทุกสถานภาพตามพระปฐมบรมราชโองการ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการศึกษาจะต้องจารึกรับใส่เกล้าไว้ และตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ
สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีรางวัลหลายด้านยืนยันเป็นที่ประจักษ์ จึงขอชื่นชมผู้บริหาร ครู บุคลากรทุกคนที่ช่วยดูแลเด็กด้อยโอกาสทุกประเภท เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการดำรงชีพ พร้อมทั้งชื่นชมว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 มีพันธกิจที่ทันสมัยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการ การพัฒนาครู การสร้างนวัตกรรม การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.เพื่อเตรียมคนเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ การจะสร้างคนให้มีคุณลักษณะตามที่ต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีภาคีเครือข่ายมาสนับสนุนโรงเรียนให้เข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นขอให้โรงเรียนดำเนินการตามพันธกิจที่กำหนดไว้อย่างเข้มข้น เมื่อเด็กเรียนจบไปจะเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข มีงานทำ และทำงานเป็น
ส่วนปัญหาอุปสรรคที่เสนอมานั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางกายภาพ เชื่อมั่นว่าแก้ไขได้ไม่ยาก โดยแนะนำให้หารือกับภาคสังคม ชุมชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้ทราบถึงความจำเป็นและนโยบายรัฐบาลเพื่อขอความร่วมมือสนับสนุนเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายของโรงเรียน
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ตระหนักว่าเด็กทุกคน ประชาชนทุกคน ทุกอายุ ทุกอาชีพ จะต้องเรียนโค้ดดิ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แตกต่างกันไปตามความยากง่ายของชั้นเรียนและอาชีพ เนื่องจากเราต้องสร้างคนของเราที่มีความสามารถสื่อสารกับเทคโนโลยียุคใหม่ได้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. ให้เด็กชั้นอนุบาลและประถมศึกษามีทักษะ Unplug Coding คือไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ แต่สอนให้เล่นเกมเพื่อสร้างทักษะ 5 ด้าน ได้แก่
1) ทักษะการอ่าน สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงสิ่งที่อ่านได้
2) ทักษะการเขียน โดยต้องเขียนเป็นและสื่อสารให้เข้าใจได้
3) การคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล คิดเชิงตรรกะ คิดเชิงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
4) การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน
5) การกล้าตัดสินใจ
โดย ศธ.ได้อบรมครูและนำร่องสอนโค้ดดิ้งในโรงเรียนที่มีความพร้อมเมื่อปลายปีที่แล้ว และเร็ว ๆ นี้จะมีการอบรมครูเพื่อสอนโค้ดดิ้งอีก ซึ่ง ผอ.โรงเรียนจะต้องเข้าร่วมอบรมด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ศธ.ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องการผลิตบุคลากรสายอาชีพทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างก้าวกระโดด ซึ่งปัจจุบันมีการเชิญนักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่ EEC โดย ศธ.จะทุ่มเทกำลังหางบประมาณมาผลิตคนด้านอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ มีทักษะวิชาการเป็นเลิศ เป็นคนดีมีจิตอาสา มีคุณธรรม ป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรม ดังนั้นหากใครมีโครงการดีที่น่าสนใจ มีความคิดดีสร้างสรรค์ สามารถนำเสนอเข้ามาได้ หากทางผู้บริหารเห็นชอบจะพยายามหางบประมาณมาสนับสนุนให้ดำเนินโครงการต่อไป
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจกรรมอาชีพ ณ ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน พร้อมชมนิทรรศการผลงานนักเรียน กิจกรรมชุมนุม และปล่อยพันธุ์ปลาในสระน้ำของโรงเรียน โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยศาสตร์พระราชา














ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส
อ.เมืองนราธิวาส
ช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส และได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ภาคใต้ชายแดนในครั้งนี้ ตั้งใจที่จะมาเยี่ยมชมโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 และศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้มีผู้บริหารของ ศธ.ทุกหน่วยงานร่วมติดตามด้วย เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเรียนรู้การทำงานในพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ต่างก็มีผลงานเป็นที่ประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านคอมพิวเตอร์ วิชาการ กีฬา ศิลปะ การแสดง ที่ได้รับรางวัลมากมาย จึงขอแสดงความชื่นชมยินดีกับผลงานของทุกโรงเรียน
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 และศูนย์การศึกษาพิเศษ ต่างมีความยากลำบากในการฝึกฝนเด็ก โดยเฉพาะศูนย์การศึกษาพิเศษถือว่ายากที่สุด เนื่องจากเป็นเด็กพิการ ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสของสังคม ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และต่อเนื่องมายังสมัยของรัชกาลที่ 10 เด็กเหล่านี้จึงได้รับการดูแลจาก ศธ. ได้มีโอกาสมาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่โรงเรียนที่จัดไว้ให้ต่อไป
นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย ภัยธรรมชาติ ความยากจน ส่งผลให้เด็กมีโอกาสมาอยู่โรงเรียนประจำ ซึ่งการอยู่โรงเรียนประจำถือเป็นเป็นจุดเด่นของโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ทำให้เด็กได้มีโอกาสเรียนมากกว่าในห้องเรียน นอกเหนือจากเรียนวิชาการแล้ว ยังได้เรียนวิชาการดำรงชีพ การอยู่ร่วมกัน การแก้ปัญหา ความอดทน การใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยโรงเรียนสามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
นายนพดล มนตรี ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส ได้จัดตั้งหน่วยบริการขึ้นประจำทั้ง 13 อำเภอเนื่องจากแต่ละอำเภออยู่ห่างไกลและสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา โดยเป้าหมายของศูนย์ฯ ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแต่เป็นผลสัมฤทธิ์ของการส่งต่อไปสู่สถานศึกษาระดับถัดไป ส่งกลับสู่สังคม และส่งกลับคืนสู่ครอบครัว ให้เด็กดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถประกอบอาชีพได้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
ศูนย์การศึกษาพิเศษเปิดให้บริการการศึกษาในลักษณะของการช่วยเหลือในระยะเริ่มแรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนจะส่งให้โรงเรียนในระดับต่อไป มีทั้งโรงเรียนปกติและโรงเรียนสำหรับคนพิการ ศูนย์ฯ จึงปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการเรียนรวมกับโรงเรียนต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลคนพิการ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กพิการในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ร่วมกับนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักจิตวิทยา เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมต่อไป










ปารัชญ์ ไชยเวช/ สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า/ ถ่ายภาพ