(19 ม.ค. 2563) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัด ศธ., น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา, รศ.ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ., นายนรา เหล่าวิชยา รองเลขาธิการ กศน. และผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นตรวจเยี่ยมโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ระหว่างวันที่ 20 – 21 ม.ค.63 ณ จ.นราธิวาส
นายไตรทิพย์ สกุลประดิษฐ์ นายอำเภอแว้ง กล่าวรายงานข้อมูลพื้นฐานว่า อ.แว้ง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดนราธิวาสเป็นระยะทาง 86 กิโลเมตร แบ่งเป็น 6 ตำบล 43 หมู่บ้าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน จำนวน 5 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 2 จำนวน 27 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 15 จำนวน 1 แห่ง และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส ซึ่งการจัดการศึกษาใน อ.แว้ง ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี

นายสุรัตน์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานศึกษาพิเศษประจำจังหวัดปัตตานี และประธานกลุ่มสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษกลุ่ม 8 ภาคใต้ กล่าวว่า การจัดการศึกษาสงเคราะห์เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กด้อยโอกาส รับนักเรียนแบบอยู่ประจำและไป – กลับ ตามพื้นที่บริการ ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ในระดับ ปฐมวัย ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เน้นการส่งเสริมทักษะอาชีพและทักษะการดำรงชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
ปัจจุบันมีสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ทั้งหมด 51 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 10 แห่ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ รวม 38 แห่ง โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ และโรงเรียนฟ้าใสวิทยา โดยรับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา 10 ประเภท และเด็กพิการเรียนรวม ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักประกอบอาชีพ เมื่อจบไปแล้วไม่เป็นภาระหรือสร้างปัญหาแก่สังคม โดยโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์นอกจากจะมีบทบาทหลักในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสแล้ว ยังเป็นกลไกในการสร้างความมั่นคงและความเป็น เอกภาพให้กับคนในชาติ แสดงถึงการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกกลุ่ม มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมทุกมิติ

นายมนูญ เสียมไหม ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส กล่าวว่า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาสมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีอุปสรรคในการเข้ารับการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ประถมศึกษา เช่น อยู่ห่างไกลในท้องถิ่นกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก กำพร้าบิดามารดา ขาดผู้อุปการะหรือภัยคุกคาม โดยรับผิดชอบในเขตการศึกษา 2 ประกอบด้วยจังหวัดยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส
ต่อมาในปีการศึกษา 2543 ทางโรงเรียนได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์การรับนักเรียนเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสตามที่กระทรวง ศึกษาธิการกำหนด 10 ประเภท เพื่อมุ่งให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา และได้ขยายพื้นที่บริการการรับนักเรียนจากเดิมรับเฉพาะในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรับนักเรียนจาก 5 อำเภอ ในจังหวัดสงขลาเพิ่ม
ปัจจุบันโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้นจำนวน 21 ห้องเรียน มีนักเรียนรวม 462 คน รับผิดชอบนักเรียนในจังหวัดนราธิวาส 5 อำเภอคือ ตากใบ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง และสุคิริน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น 69 คน มีเรือนนอนทั้งหมด 15 หลัง โดยมีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ คือ มีรถไม่เพียงพอบริการรับส่งนักเรียนไปอบรมหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดและต่างจังหวัด ปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน นอกจากนี้การที่ข้าราชการครูต่างถิ่นมาบรรจุ เมื่อครบวาระโยกย้ายกลับภูมิลำเนาทำให้การปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งขอเสนอให้จัดสรรตำแหน่งอัตราจ้างหรือพนักงานราชการสำหรับวิทยากรสอนศาสนา เพื่อความมั่นคงในอาชีพต่อไป

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอบคุณทุกคนที่สละเวลามาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อให้โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาสสามารถจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีความสุขในการเรียน ผู้ปกครองมีความสบายใจ ครูมีศักดิ์ศรี รวมถึงสังคมมีส่วนร่วมส่งเสริมให้นักเรียนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมหลายด้าน
ที่ผ่านมาทุกคนบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการดูแลเอื้ออำนวยให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ เมื่อโตขึ้นไปจะไม่มีความสุขในการทำงาน จึงได้เน้นย้ำว่าต่อไปนี้การศึกษาไม่ใช่การให้โรงเรียนสอนตามหลักสูตรอย่างเดียว โดยเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความชอบในเรื่องราวที่แตกต่างกันไป จึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน โดยสร้างบรรยากาศ จัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ครูทุกคนสามารถสอนในเรื่องที่เด็กสนใจอยากเรียนให้ได้ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนจากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ศึกษาปัญหาของชุมชน และโครงการที่น่าสนใจในชุมชน
ขณะที่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สามารถอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้ครู และคนทำธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไป จึงต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้เรียนจบแล้วจะได้มีงานทำทันที โดยนำหลักสูตรทวิภาคีมาช่วยให้เด็กได้ทดลองทำงานกับผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการพูดคุยแนวทางร่วมกับ ผอ.โรงเรียนไว้แล้ว หวังว่าเทอมหน้าจะมีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนโรงเรียนมากขึ้น
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการได้กล่าวว่า เด็กไทยทุกคนต้องได้เรียน CODING ซึ่งมีหลายระดับตามช่วงอายุที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถสื่อสารกับคอมพิวเตอร์และติดต่อกับผู้คนจำนวน 7 ล้านล้านคนในโลกได้ รองรับความต้องการแรงงานด้านเทคโนโลยีในอนาคต ส่วนของเรื่องเงินอุดหนุน อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนตามที่เสนอแนะมานั้น ยินดีรับข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมผลงานทางวิชาการของนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส อาทิ กิจกรรมโรงเรียนธนาคาร ทักษะกีฬารักบี้ฟุตบอล ทักษะคอมพิวเตอร์สมองกลฝังตัว ทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำ เป็นต้น





















ปารัชญ์ ไชยเวช/ สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า/ ถ่ายภาพ