มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 หนึ่งแสนล้านบาท
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- กำหนดให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ให้จัดตามหลักสูตรที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด ได้แก่ (1) ประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา (2) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (3) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และ (4) ปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (เดิมกำหนดเพียง (2) – (4) เท่านั้น)
- แก้ไขอำนาจของสภาสถาบัน โดยให้สภาสถาบันมีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา (เดิม มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และประกาศนียบัตรวิชาชีพเท่านั้น)
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถจัดการศึกษาสายอาชีวศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษาได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่เด็กและเยาวชนในการศึกษาต่อจากระดับประถมศึกษาตามความสนใจและความถนัดของตน
โดยนักเรียนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปี 2563 จำนวน 186 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษารวม 8 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน จังหวัดลำพูน วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี วิทยาลัยการอาชีพนาแก จังหวัดนครพนม วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร วิทยาลัยการอาชีพโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง วิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรี เรื่อง การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ข้อ 8.3 พัฒนาอาชีวะ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0
เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ ซึ่งเป็นไปตามนัยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 (1) ที่บัญญัติให้ในการจัดทำงบประมาณประจำปีให้ สงป. เป็นหน่วยงานหลัก โดยร่วมกับ กค. สศช. และ ธปท. เพื่อกำหนดนโยบายงบประมาณประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือการจัดการในกรณีที่ประมาณการรายได้สูงกว่าวงเงินงบประมาณ และเมื่อได้ดำเนินการแล้วให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
สาระสำคัญ เป็นการกำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 523,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดไว้ 3,200,000 ล้านบาท จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป