(31 ต.ค.62) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดตราด เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการผลงาน และผลิตภัณฑ์ชุมชนของ กศน.อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดตราด พร้อมทั้งมอบนโยบายและรับฟังปัญหาสถานศึกษาสังกัด กศน. โรงเรียนสังกัด สช. และกิจการลูกเสือ
การดำเนินงานการศึกษาเอกชน จ.ตราด : เตรียมส่งเสริมด้านความถนัดของเยาวชน
นางพัชรี คงชาตรี ผู้แทนสำนักงาน ศธจ.ตราด รายงานการดำเนินงานการศึกษาเอกชนจังหวัดตราด ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยสำนักงาน ศธจ.ตราด และคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด (คณะกรรมการ ปสกช.) ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการศึกษาเอกชนให้มีคุณภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) โรงเรียนเอกชนในระบบ มีจำนวน 8 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนจำนวน 393 คน และครูจำนวน 179 คน 2) โรงเรียนเอกชนนอกระบบ มีจำนวน 11 โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพและโรงเรียนประเภทศิลปะ/ กีฬา
ในส่วนของการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชน มีการจัดโครงการและกิจกรรม ได้แก่ โครงการพัฒนาการจัดประสบการณ์เรียนการสอนปฐมวัย จำนวน 2 กิจกรรม, โครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ (O-NET) จำนวน 4 กิจกรรม และโครงการพัฒนาระบบการประเมินมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา จำนวน 2 กิจกรรม
นายจำเหลาะ ควรหา ประธานคณะกรรมการ ปสกช.จังหวัดตราด ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลของครูเอกชน โดยอยากขอให้สวัสดิการรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงบุคคลในครอบครัวของครูเอกชนด้วย รวมถึงเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวซึ่งปัจจุบันได้รับ 70% อยากขอให้ปรับเพิ่มเป็น 75% เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน เป็นมติที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ จึงขอให้ครูเอกชนรอเวลาก่อน เนื่องจากกองทุนฯ ต้องบริหารเงินอย่างระมัดระวัง หากกองทุนฯ สามารถสร้างรายได้เพียงพอ จะเร่งหารือประเด็นนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ครูเอกชนโดยเร็ว ขณะที่กรณีการปรับขึ้นเงินอุดหนุนรายหัวนั้น ถูกเตรียมไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2564 แล้ว
ที่ผ่านมาการพัฒนาส่งเสริมเด็ก ส่วนใหญ่จะดูแลเฉพาะกลุ่มเด็กเรียนเก่ง แต่สำหรับปีนี้จะเน้นต่อยอดสนับสนุนเด็กที่คะแนนการเรียนอาจจะไม่สูงมาก แต่มีความถนัดด้านอื่นที่สามารถต่อยอดให้พัฒนาได้ ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมจะมอบหมายทาง สช.เสนอให้ได้รับทราบต่อไป

การดำเนินงานกิจการลูกเสือ : เน้นปลูกฝังเยาวชนให้มีระเบียบวินัย
นายสุรชัย วิรัติสกุล ผอ. กลุ่มลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน สำนักงาน ศธจ.ตราด เสนอแนะปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ ดังนี้
- สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดไม่มีอำนาจหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ดำเนินการได้เพียงแนะนำ ช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินการร่วมกับสำนักงานลูกเสือจังหวัด
- เรื่องการจัดตั้งกองลูกเสือของสถานศึกษา เนื่องจากพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ต้องเป็นผู้กำกับกองลูกเสือที่ผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาผู้กำกับลูกเสือประเภทตามที่ขอรับการแต่งตั้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดำเนินการสำรวจวุฒิทางลูกเสือเพื่อขอรับงบประมาณ และเปิดโครงการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือหลักสูตรวิชาผู้กำกับลูกเสือ ให้สอดคล้องกับความต้องการ
- เรื่องกองลูกเสือสมุทรและกองลูกเสือมัคคุเทศก์ จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ติดชายทะเล และเป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้ดำเนินการสอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นขอให้ส่งเสริมบุคลากรของสถานศึกษาในการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาผู้กำกับลูกเสือก่อน และประสงค์จะรับการส่งเสริมภาษาต่างประเทศสำหรับกองลูกเสือมัคคุเทศก์ด้วย
ทั้งนี้ รมช. ศึกษาธิการ ขอรับปัญหาอุปสรรคที่เสนอมาไว้เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขให้ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญด้านระเบียบวินัยอย่างมาก โดยคาดหวังว่าหลักสูตรวิชาลูกเสือ เนตรนารีและยุวกาชาด จะเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้เยาวชนไทยได้รับการฝึกฝนวินัย ขณะที่ ศธ. ก็ได้ส่งเสริมการอบรมลูกเสือ เช่น ลูกเสือมัคคุเทศก์ ลูกเสือสำรอง เป็นต้น และระยะถัดไปอยากให้ครูทุกคนได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเสือ โดยเฉพาะครูบรรจุใหม่ ซึ่งจะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้พิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

ผลการดำเนินงานสำนักงาน กศน.จังหวัดตราด : เกลี่ยอัตรากำลังครู กศน. 891 อัตรา พร้อมรับฟังข้อเสนอและทลายทุกข้อจำกัด
ผลการปฏิบัติงานสำนักงาน กศน. จังหวัดตราด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กศน.จังหวัดตราดได้ดำเนินกิจกรรมตามนโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. เพื่อร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และแนวทางการพัฒนาจังหวัดตราด ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาต่อเนื่อง และการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีปัญหาและข้อเสนอแนะดังนี้
- หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาต่อเนื่องไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยเสนอให้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เพื่อการจัดหาวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทาง และจัดหาวัสดุในการพัฒนาทักษะได้ดียิ่งขึ้น
- งบประมาณผลผลิต 4 การจัดการศึกษาต่อเนื่องที่กำหนดค่าใช้จ่ายเฉพาะกิจกรรม ไม่สามารถนำงบประมาณในส่วนที่เหลือไปใช้เพื่อพัฒนางานได้ จึงขอให้พิจารณาให้สามารถนำงบประมาณส่วนที่เหลือจากการจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้วไป ใช้ในการพัฒนางาน
- งบประมาณผลผลิต 5 การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีกำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายตึงตัว ทำให้ไม่สามารถพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพได้ โดยขอให้พิจารณาจัดทำเฉพาะกรอบการใช้จ่ายงบประมาณ ส่วนรายละเอียดการใช้งบประมาณควรให้สถานศึกษาได้พิจารณาวางแผนดำเนินงานตามกรอบที่กำหนด
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขอรับปัญหาทุกเรื่องไปจัดการให้ ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดในทุกด้าน รวมถึงขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานทุกเรื่องด้วย หากไม่ได้เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ก็คงจะไม่สามารถขับเคลื่อนงานไปได้อย่างเต็มที่
สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายของ กศน. เรื่องขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อได้รับทราบถึงปัญหาที่ไม่สามารถบรรจุเป็นครูได้ จึงเกลี่ยอัตราครูให้ จำนวน 891 อัตรา ขอให้รออีกสักระยะ เพราะมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ เช่น เรื่องใบประกอบวิชาชีพครู เรื่องวุฒิครู เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และขอให้เชื่อมั่นว่า วันนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาตั้งใจมาแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ พร้อมทั้งยืนยันจะทลายทุกข้อจำกัดในการทำงาน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง















ปารัชญ์ ไชยเวช /สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ /ถ่ายภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร /กราฟิก