‘คุณหญิงกัลยา’ ประกาศ “วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยการประมงทั่วประเทศ ปลอด 3 สารเคมีอันตราย” ชูวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมานำร่องผลิตอาหารปลอดภัย
(12 ก.ย.2562) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าววิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยการประมง เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมีอันตราย โดยมีนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, นายศุภชัย ศรีหล้าที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายประจักษ์ ทาสี ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ นายบุญทอง สุขสวัสดิ์ รอง ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และนายวิศวะ คงแก้ว ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยการประมงเป็นสถานศึกษาที่ต้องบ่มเพาะสร้างผู้ประกอบการด้านการเกษตรและสร้างเกษตรกรในอนาคต ซึ่งเป็นบุคลากรที่ต้องนำความรู้และวิธีการที่ถูกต้องไปสร้างผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหารปลอดภัย”อันจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกที่ผลิตอาหารสุขภาพ “Green Health”
อีกทั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยการประมง ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารจำหน่ายแก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป จึงต้องจำหน่ายอาหารที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งการผลิตอาหารของเกษตรกรในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรจำนวนมากใช้สารเคมีอันตราย 3 ประเภท ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในหลายพื้นที่
ดังนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างการผลิตอาหารและจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ถูกต้องเพื่อสร้างเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่ให้ความสำคัญสูงสุดต่อผู้บริโภคด้วยการผลิต “อาหารปลอดภัย” และ “อาหารเพื่อสุขภาพ” กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยการประมงเป็นพื้นที่ปลอด 3 สารเคมีอันตรายดังกล่าว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา จะเป็นต้นแบบการทำเกษตรผลิตอาหารกลางวันปลอดภัย โดยโรงเรียนจะรับผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารเคมีจากวิทยาลัยไปปรุงอาหารกลางวัน ขณะเดียวกันวิทยาลัยจะจัดคณะพี่เลี้ยงจิตอาสาในการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีอันตราย ลงไปช่วยเหลือโรงเรียนในการทำเกษตรและการปรุงอาหารสุขภาพเมนูต่าง ๆ ตามความพร้อมของโรงเรียน เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนในพื้นที่รอบวิทยาลัย
นอกจากนี้ จะมีการขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและปลูกฝังไปสู่ลูกหลาน รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ เกษตรกรที่มาเรียนกับวิทยาลัย จะได้รับทราบและตระหนักถึงความห่วงใยของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยการประมง เชื่อมั่นว่าประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะยินดีให้ความร่วมมือกับ ศธ. อย่างเต็มที่ โดย รมช.ศึกษาธิการจะเดินทางไปวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา เพื่อเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กันยายน นี้
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ